บึงละหาน จังหวัดชัยภูมิ

 

Thailand from Thaichote Banner

Lahan4

ข้อมูลจากดาวเทียมไทยโชต รายละเอียดภาพ 2 เมตร

บึงละหาน เป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของประเทศไทย มีเนื้อที่ 29.09 ตารางกิโลเมตร หรือ 18,181 ไร่ สูงจากระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ย 190 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบลในอำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ได้แก่ ตำบลละหาน ตำบลหนองบัวใหญ่ ตำบลหนองบัวบาน ตำบลลุ่มลำชี  โดยพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณตำบลละหาน อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ

บึงละหานได้รับเลือกให้เข้าอยู่ในทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติของไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 เรื่อง ทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและระดับชาติของประเทศไทย และมาตรการการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญระดับนานาชาติ (Ramsar Site) ต่อสำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วย พื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกภาคีของอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะเป็นถิ่นที่อยู่ของนกน้ำ (The Convention on Wetlands of International Importance, especially as Waterfowl Habitat)

ลักษณะภูมิประเทศของบึงละหาน เป็นที่ลุ่มคล้ายแอ่งกระทะเอียงไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณพื้นที่ทิศตะวันตกมีพื้นที่มากกว่าด้านอื่น ทางด้านธรณีวิทยาตั้งอยู่บนพื้นที่ราบที่มีชั้นเกลือหินวางตัวอยู่ด้านใต้ เกลือหินสามารถละลายน้ำได้ง่ายและทำให้เกิดโพรงใต้ดิน เมื่อตะกอนด้านบนรับน้ำหนักไม่อยู่จึงเกิดการถล่มตัวลงเป็นปรากฏการทางธรณีวิทยาที่เรียกว่า “หลุมยุบ” โดยเริ่มแรกเป็นหลุมขนาดเล็กและค่อยขยายตัวใหญ่ขึ้น เมื่อเกิดหลุมยุบครั้งแรกน้ำจะรสชาติเค็มเนื่องจากน้ำเกลือใต้ดินขึ้นมา ภายหลังตะกอนขนาดเล็กจะปิดกั้นไม่ให้เกลือสามารถขึ้นมาได้ ในขณะที่น้ำจืดเพิ่มปริมาณมากขึ้นความเค็มก็เจือจางไป

แต่เดิมบึงละหานเป็นหนองน้ำหลายแห่งที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ในฤดูน้ำหลากน้ำจะไหลเข้ามาจากลำห้วยต่างๆเช่น ห้วยลำคันฉู ห้วยหลัว ห้วยยาง ห้วยตาแก้ว เป็นต้น ทำให้ปริมาณน้ำในหนองเออเข้าหากันรวมเป็นหนองขนาดใหญ่ เรียกว่า บึงละหาน ภายในบริเวณบึงมีเกาะที่เกิดจากน้ำท่วมไม่ถึงซึ่งชาวบ้านเรียกว่า โนน เช่น โนนจาน โนนงิ้ว และน้ำในบึงจะไหลลงแม่น้ำชีในที่สุด เนื่องจากบึงละหานเป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติไม่มีระบบกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งน้ำในบึงจึงลดลงมากจนมีสภาพตื้นเขินสามารถนำปศุสัตว์ลงหากินและทำเกษตรได้ในบางพื้นที่ แต่ปัจจุบันบึงละหาน ได้รับการพัฒนาให้มีคันดินล้อมรอบบริเวณบึง มีฝายน้ำล้นกักเก็บน้ำและมีประตูเปิดปิดน้ำไว้ไม่ให้ไหลลงลำน้ำชีเร็วเกินไปเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคหล่อเลี้ยงชาวจังหวัดชัยภูมิ เพื่อการเกษตร การประมง และเพื่อป้องกันการบุกรุกพื้นที่บึงละหาน บึงละหานจึงกลายเป็นบึงขนาดใหญ่ มีน้ำตลอดทั้งปี ระดับน้ำลึกที่สุดประมาณ 1.5 – 4 เมตร และยังคงมีเกาะกลางน้ำที่น้ำท่วมไม่ถึงอยู่เช่นเดิม เกาะที่ใหญ่ที่สุดประมาณ 0.3 ตารางกิโลเมตร หรือ 187.5 ไร่ ป่าละเมาะขึ้นที่โดยรอบจะมีลักษณะเกาะค่อนข้างเรียบ ลักษณะดินโดยรอบเป็นดินที่มีการทับถมของซากพืชจึงมีความอ่อนตัวของดิน

ที่มา : วิกิพีเดีย
รวบรวมข้อมูลโดย : นางสาวปณิชา นพจิระเดช

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN

404 Not Found

404

Not Found

The resource requested could not be found on this server!


Proudly powered by LiteSpeed Web Server

Please be advised that LiteSpeed Technologies Inc. is not a web hosting company and, as such, has no control over content found on this site.