

กิจกรรมส่งเสริมการประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับเพื่อการเรียนการสอนในโรงเรียน
ภายใต้โครงการสร้างความตระหนักด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ “ระดับเยาวชน”
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ร่วมกับ
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
ศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศทั่วประเทศ, Drone Academy Thailand และ DevDrone Mapper
ครั้งต่อไปพบกันที่ ณ โรงเรียนรัตภูมิวิทยา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561
อยากให้น้องลอง “บิน” เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้สัมผัสกับเทคโนโลยีโดรน สนุกสนานไปพร้อมการเรียนรู้ เพิ่มศักยภาพการประยุกต์ใช้งานเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ อันจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนต่อยอดสู่การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศในอนาคต เตรียมบุคลากรให้พร้อมต่อการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรม ขับเคลื่อนเทคโนโลยีประเทศไทยให้ก้าวไกลในอนาคต
หลักการและเหตุผล
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : GISTDA ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกลางด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ได้เล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะเผยแพร่ความรู้ให้กับกลุ่มเยาวชนได้มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะการนำไปใช้ประโยชน์เกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาต่อยอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ GISTDA จึงได้จัดทำกิจกรรม อยากให้น้องลอง “บิน” ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีความสนใจ ได้มีโอกาสเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการใช้งานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษา เพิ่มพูนความรู้และสร้างเสริมประสบการณ์แก่ตนเอง ส่งผลให้เกิดการต่อยอดไปถึงการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของประเทศไทยในอนาคต ทั้งนี้เป็นการเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติข้อที่ 3 ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน
วัตถุประสงค์
- เพื่อให้เยาวชนได้เข้าถึงเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ มีความรู้ความเข้าใจอันจะเป็นพื้นฐานนำไปสู่การเรียนรู้ พัฒนาต่อยอด ตลอดจนนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และช่วยเหลือสังคมต่อไป
- เพื่อสร้างแรงบันดาลใจสำหรับเยาวชนในการศึกษาด้านเทคโนโลยี
- เพื่อส่งเสริมคุณภาพการศึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศและเป็นแหล่งสาธิตการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ถ่ายทอดสู่บุคคลอื่นต่อไป
รูปแบบฐานกิจกรรม
- ฐานการเรียนรู้การบินโดรนเพื่อทำแผนที่ (Drone Mapping) เป็นการเรียนรู้หลักการพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการบินโดรนเพื่อการผลิตแผนที่ เรียนรู้มาตราการรักษาความปลอดภัยก่อนบินโดรน อีกทั้งยังมีโอกาสได้ควบคุมโดรนด้วยตัวเอง นับว่าเป็นอีกหนึ่งความสามารถของโดรนในยุคปัจจุบัน และกำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากการทำแผนที่นับเป็นหนึ่งในเครื่องมือ STEM และความรู้ดังกล่าวสามารถนำไปต่อยอดทำธุรกิจได้อีกด้วย
- ฐานฝึกการควบคุมอากาศยานไร้คนขับผ่านโปรแกรมจำลองการบิน (Simulation Control) เป็น กิจกรรมที่เน้นให้ผู้เรียนได้ทดสอบควบคุมอากาศยานไร้คนขับผ่านโปรแกรมจำลองการบิน มีวัตถุประสงค์คือฝึกให้สามารถควบคุมอากาศยาน เพื่อให้เกิดความเคยชินสามารถบินตามภารกิจและลงจอดโดยไม่เกิดความเสียหายซึ่งเป็นพื้นฐานก่อนบินอากาศยานไร้คนขับจริง เป็นการฝึกวิธีการแก้ปัญหาและพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ในขณะทำการบินอากาศยานไร้คนรับและสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะทำการบิน
- ฐานฝึกการควบคุมโดรนขนาดเล็ก เป็นการทดสอบควบคุมโดรนขนาดเล็ก Parrot รุ่น Mambo ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายโดยการควบคุมด้วยมือผ่านรีโมทคอนโทรลหรือแทบเล็ต เป็นกิจกรรมที่เน้นให้สามารถควบคุมอากาศยานไร้คนขับได้อย่างถูกวิธีโดยอยู่ในการกำกับดูแลของผู้เชี่ยวชาญ
- ฐานฝึกการควบคุมโดรนด้วยการเขียนโปรแกรมควบคุม เป็นการทดสอบ ควบคุมอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็กตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายโดยการเขียนโปรแกรมการควบคุมอากาศยานอย่างง่ายผ่านแอพพลิเคชั่นบนแท็บเล็ต เป็นกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มทักษะการวิเคราะห์ วางแผนในการควบคุมอากาศยานไร้คนขับโดยผู้เชี่ยวชาญด้านอากาศยานไร้คนขับ และฝึกการแก้ปัญหาตามภารกิจที่กำหนด
- ฐานการเรียนรู้การควบคุมโดรนขนาดกลาง เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ สำหรับนักเรียนให้มีโอกาสควบคุมโดรนภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญ และปฎิบัติตามกฏระเบียบอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัย เพื่อกระตุ้นแรงบันดาลใจในตัวเด็กและปลูกฝังให้เยาวชนรู้จักระเบียบข้อปฎิบัติของการบินโดรน
ตารางการจัดกิจกรรม
วันที่ 15 ธันวาคม 2560 ณ โรงเรียนบางแพปฐมพิทยา อ.บางแพ จ.ราชบุรี
วันที่ 20 ธันวาคม 2560 ณ โรงเรียนแสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี
วันที่ 05 มกราคม 2561 ณ โรงเรียนบางระกำวิทยศึกษา อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก
วันที่ 09 มกราคม 2561 ณ โรงเรียนจอมทอง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
วันที่ 12 มกราคม 2561 ณ โรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม
วันที่ 08 กุมภาพันธ์ 2561 ณ โรงเรียนรัตภูมิวิทยา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา
กลุ่มเป้าหมาย
ครูและนักเรียนที่มีความสนใจด้านอากาศเทคโนโลยีเกี่ยวกับโดรน โรงเรียนละประมาณ 100 คน
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
- ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความรู้ ความเข้าใจ เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเกี่ยวกับเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพแบบยั่งยืนและเป็นรูปธรรม
- ได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ มีกิจกรรมการมีส่วนร่วม และถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ผู้อื่นอย่างต่อเนื่อง
- โรงเรียนสามารถนำกิจกรรมไปต่อยอดเพื่อเป็นประโยชน์ทางด้านการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพผู้ใช้งานอากาศยานไร้คนขับในระดับเยาวชน
- ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความสุขในการเรียนรู้