กลุ่มข้อมูลดาวเทียมรายละเอียดสูงจากฝรั่งเศส

ประเทศฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่สามารถผลิตดาวเทียมขึ้นมาใช้งานได้เองและยังสามารถรับผลิตดาวเทียมให้กับประเทศอื่นๆ อีกด้วย โดย Astrium, an EADS Company ที่ผ่านมาการใช้งานดาวเทียมของประเทศฝรั่งเทศในประเทศไทยและเป็นที่รู้จักกันมากคือกลุ่มของดาวเทียม SPOT มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 5 ดวง ได้แก่ SPOT 1, SPOT 2, SPOT 3, SPOT 4, และ SPOT 5 ซึ่งมีการนำข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมมาใช้ประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการติดตามการเปลี่ยนแปลงของการใช้ประโยชน์ที่ดิน การอัพเดตชั้นข้อมูลแผนที่ลายเส้น การจำแนกชนิดของพืชพรรณต่างๆ ดูทิศทางการขยายตัวของเมือง เป็นต้น

ด้วยข้อจำกัดบางอย่างของกลุ่มดาวเทียมนี้ เช่น การขาดช่วงคลื่นสีน้ำเงิน รายละเอียดจุดภาพไม่รายละเอียดเพียงพอ การบินถ่ายภาพไม่ทันต่อเหตุการณ์ เป็นต้น ที่ยังไม่ตอบโจทย์ของการประยุกต์ใช้งานในปัจจุบันที่มุ่งเน้นไปทางด้านการทำแผนที่มาตราส่วนใหญ่แบบสีผสมธรรมชาติ การพิมพ์แผนที่ และต้องการได้รับข้อมูลภาพถ่ายอย่างรวดเร็วให้ทันต่อเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อนำไปใช้วางแผนและประกอบการตัดสินใจในระดับท้องถิ่น

ทำให้ Astrium, an EADS Company มีการสร้างดาวเทียมขึ้นมาใหม่ 4 ดวง ที่อยู่บนวงโคจรเดียวกัน (เหนือ – ใต้) เพื่อให้ใช้ทำงานร่วมกันได้ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มของดาวเทียม Pléiades (1A และ 1B) และกลุ่มของดาวเทียม SPOT (6 และ 7) ซึ่งดาวเทียมในกลุ่มเดียวกันจะมีองศาในการโคจรต่างกัน 180 องศา และต่างกลุ่มกันจะมีองศาในการโคจร 90 องศา ยกตัวอย่างเช่น ถ้าดาวเทียม Pléiades 1A อยู่ขั้วโลกเหนือ ดาวเทียม Pléiades 1B อยู่ขั้วโลกใต้ ในขณะที่ดาวเทียม SPOT 6 อยู่แนวเส้นศูนย์สูตรฝั่งตะวันตก และ SPOT 7 อยู่แนวเส้นศูนย์สูตรฝั่งตะวันออก

pic2

ความเหมือนและความแตกต่างกันของกลุ่มดาวเทียมทั้ง 2 นี้ คือ

1. ทั้ง 2 กลุ่มมีรูปแบบของผลิตภัณฑ์เหมือนกัน คือ Primary และ Ortho

2. ทั้ง 2 กลุ่มมีจำนวนช่วงคลื่นเท่ากัน คือ Panchromatic 1 band (Black and White) และ Multispectral 4 bands (B, G, R, NIR)

3. กลุ่มดาวเทียม Pléiades มีรายละเอียดจุดภาพ Panchromatic (50 เซนติเมตร) และ Multispectral (2 เมตร)
ส่วนกลุ่มดาวเทียม SPOT มีรายละเอียดจุดภาพ Panchromatic (1.5 เมตร) และ Multispectral (6 เมตร)

http://www.astrium-geo.com/en/3027-pleiades-50-cm-resolution-products

http://www.astrium-geo.com/en/4594-spot-6-products

ในจำนวนดาวเทียมทั้ง 4 ดวงนี้ ปัจจุบันถูกปล่อยขึ้นสู่วงโคจรไปแล้ว 3 ดวง ได้แก่ Pléiades 1A (16 ธันวาคม 2554), Pléiades 1B (2 ธันวาคม 2555), SPOT 6 (9 กันยายน 2555) ส่วนดาวเทียม SPOT 7 มีกำหนดการปล่อยขึ้นสู่วงโคจรประมาณต้นปี 2557

ตัวอย่างข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม Pléiades

pic3

ตัวอย่างข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม SPOT 6

pic4

สุดท้ายแล้ว หากประเทศไทย โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : สทอภ. : GISTDA มีนโยบายในการรับสัญญาณ ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการถ่ายภาพ เพื่อใช้ช่วยวางแผนและตัดสินใจได้รวดเร็วขึ้น โดยจะใช้ทำงานร่วมกับกลุ่มดาวเทียมรายละเอียดสูงของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ดาวเทียม IKONOS, GEOEYE, QUICKBIRD, WORLDVIEW-1, และ WORLDVIEW-2 ซึ่งมีจำนวนช่วงคลื่นและรายละเอียดภาพใกล้เคียงกัน

แหล่งที่มา : https://gi4u.wordpress.com

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN