การให้บริการข้อมูลสภาพภูมิอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา

สำหรับประเทศไทย ในความคิดของผมคงไม่มีหน่วยงานไหนที่จะมีข้อมูลสภาพภูมิอากาศที่ดี มีความหลากหลาย และครอบคลุมทั่วประเทศเท่ากับของกรมอุตุนิยมวิทยาอีกแล้ว ซึ่งนอกจากข้อมูลที่ดีแล้ว การรายงานเกี่ยวกับสภาพอากาศ และการประกาศเตือนภัยต่างๆ ค่อนข้างแม่นยำและน่าเชื่อถือ คงเป็นเพราะการมีระบบฐานข้อมูลที่ดี มีนักวิชาการที่เก่ง ผู้บริหารที่มีนโยบายที่ชัดเจนและมีวิสัยทัศน์กว้างไกล และมีการพัฒนาข้อมูลทางด้านภูมิอากาศให้มีความง่ายและพร้อมในการใช้งานทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นบนเว็บไซต์ แอปพริเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์สายด่วน และอีเมล์ในการติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง ซึ่งเป็นการให้บริการดูข้อมูลสภาพภูมิอากาศใหม่ๆ ข้อมูลสภาพภูมิอากาศย้อนหลัง แผนที่ภาพรวมอากาศทั้งประเทศ การให้บริการข้อมูลอุตุนิยมวิทยาและแผ่นดินไหวผ่าน Web API และอื่นๆ อีกหลายอย่าง

167_1

มีหลายหน่วยงานที่นำข้อมูลสภาพภูมิอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาไปใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา บริษัทเอกชน หรือหน่วยงานต่างประเทศ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ทั้งสิ้น แม้กระทั่งตัวผมเองก็ได้ใช้ข้อมูลสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมมาทำงานวิจัยอยู่เป็นประจำ แต่ว่าจะใช้เฉพาะข้อมูลปริมาณน้ำฝนและอุณหภูมิเท่านั้น ซึ่งในแต่ละงานวิจัยก็จะมีรายละเอียดของข้อมูลไม่เหมือนกัน เช่น รายวัน รายเดือน รายปี หรือราย 30 ปี ในจำนวนสถานีตรวจวัดที่แตกต่างกัน ส่วนข้อมูลอื่นๆ ตามตารางด้านล่างที่กรมอุตุนิยมวิทยาให้บริการ ไม่เคยได้ใช้เลย คงเป็นเพราะเนื้อหาในงานวิจัยที่ทำ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับข้อมูลเหล่านี้ ซึ่งก็คาดว่าคงจะได้นำไปใช้ในอนาคตอันใกล้นี้

167_2

ปกติการให้บริการข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา จะมีการกำหนดอัตราค่าบริการไว้ในราคาไม่แพง แบ่งออกเป็น 3 อย่าง คือ ข้อมูลกระดาษต่อเนื่อง ข้อมูลบันทึกบนแผ่นแม่เหล็ก และผลการวิเคราะห์และสรุปข้อมูลเฉพาะกรณีเป็นพิเศษ (ใช้ในการทำนิติกรรม) นอกจากนั้นก็จะมีตัวอย่างของข้อมูลที่จะได้รับไป หลังจากได้รับบริการแล้วจะเป็นข้อมูลตารางใน MS Excel ซึ่งก็สะดวกและง่ายในการนำไปจัดการหรือวิเคราะห์ข้อมูลต่อไป

 

อีกงานบริการหนึ่งที่ผมขอชื่นชมจริงๆ ก็คือ การส่งข้อมูลให้แก่ผู้ขอรับบริการผ่านอีเมล์ ซึ่งได้ข้อมูลที่รวดเร็วมากที่สำคัญคือไม่คิดค่าบริการ หรือ ฟรี

งานบริการตรงส่วนนี้ ผมไม่ได้มองว่าเป็นจุดอ่อนหรือเป็นช่องทางให้เข้าถึงข้อมูลอย่างไม่ถูกต้อง แต่มันเป็นประโยชน์จริงๆ สำหรับผู้ขอรับบริการที่ต้องการใช้ข้อมูลไม่มากนัก เช่น ต้องการข้อมูลปริมาณน้ำฝนรายเดือน ปี 2558 ของสถานีฝนอำเภอปาย และขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน และที่สำคัญคือ อยากได้ข้อมูลเร็วๆ โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน นักศึกษา หรือนักวิจัย ที่กำลังเร่งทำงานเพื่อให้เสร็จตามเวลาที่กำหนด แต่จะด้วยปัจจัยอะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้มีความต้องการอยากได้ข้อมูลเดี๋ยวนี้ตอนนี้มาใช้งาน การให้บริการตรงนี้ช่วยทำให้พวกเขามีกำลังใจที่จะทำงานต่อไปเพิ่มขึ้นอีก พอได้ข้อมูลมาแล้วก็เหมือนกับช่วยลดความกดดันในงานลงหรือยกภูเขาออกจากอกได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งหลังจากที่ส่งอีเมล์ขอข้อมูลไปที่ info_service@tmd.go.th ไม่นานก็จะได้ข้อมูลที่ต้องการส่งกลับมา แต่คำว่า ไม่นาน อาจจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างๆ แล้วแต่กรณี จากประสบการณ์ของผม น้องๆ และพี่ๆ ที่เคยขอไปและได้พูดคุยกันก็ประมาณไม่เกิน 6 ชั่วโมง เร็วสุด 1 ชั่วโมง

แต่ถ้าใครมีเวลา มีการวางแผนงานวิจัยที่ดี ต้องการข้อมูลปริมาณมาก และได้งบประมาณในการทำงานวิจัย ก็สนับสนุนค่าใช้จ่ายตามอัตราค่าบริการที่เค้ากำหนดไว้ ก็จะเป็นสิ่งที่ดีกว่าครับ

ที่มา : https://gi4u.wordpress.com

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN