การอ่านแผนที่ : การอ่านและการใช้แผนที่ในภูมิประเทศ

  1. การจัดแผนที่ให้ถูกทาง (Map orientation)

ขั้นแรกของการนำแผนที่ไปใช้ในภูมิประเทศก็คือ การจัดแผนที่ให้ถูกทางซึ่งการจัดแผนที่นี้มีความสำคัญอย่างมาก ในการกำหนดทิศทางที่ถูกต้องสำหรับการอ่านแผนที่ และนำแผนที่ไปใช้เพื่อหาตำแหน่งต่างๆ บนภูมิประเทศได้อย่างถูกต้อง การจัดแผนที่ให้ถูกทางทำได้ง่ายโดยการใช้เข็มทิศวางบนเส้นกริดในแผนที่ ให้แนวเหนือ-ใต้ของเข็มทิศทาบกับเส้นกริดพอดี เมื่อลูกศรชี้ไปทางทิศเหนือจึงแปลว่าทิศที่แผนที่หันไปนั้นเป็นทิศเหนือในภูมิประเทศจริงเช่นกัน อย่างไรก็ตามถ้าหากต้องการความละเอียดของงานมากกว่านี้ ก็สามารถปรับแก้ทิศได้จากการเทียบทิศเหนือกริดกับทิศเหนือแม่เหล็กที่ระบุไว้นอกขอบระวางแผนที่ เนื่องจากทิศเหนือที่เราใช้จริงนั้นเป็นทิศเหนือแม่เหล็กแต่ทิศเหนือในแผนที่นั้นคือทิศเหนือกริด

  1. การหาตำแหน่งโดยวิธีสกัดกลับ (Resection)

การสกัดกลับเป็นวิธีการกำหนดตำแหน่งโดยต้องมีเป้าหมายเด่นๆ ของภูมิประเทศที่ทราบตำแหน่งแล้วอย่างน้อย 2 แห่งหรือมากกว่า การสกัดกลับสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การสกัดกลับโดยใช้เข็มทิศและไม้โปรแทรกเตอร์ และการสกัดกลับด้วยวิธีกราฟิก

– การสกัดกลับโดยใช้เข็มทิศและไม้โปรแทรกเตอร์ วิธีนี้ทำได้โดยเลือกเป้าหมายเด่นๆของภูมิประเทศที่ปรากฏชัดเจนในแผนที่ และอยู่ห่างกันพอที่จะสร้างมุมได้ โดยมีผู้สังเกตเป็นจุดยอดของมุมนั้น แล้วใช้เข็มทิศเล็งไปยังเป้าหมายทั้งสองทำการบันทึกค่ามุมแอซิมัทแม่เหล็ก (Magnetic azimuth) แล้วใช้ไม้โปรแทรกเตอร์วัดค่ามุมแอซิมัทกลับ (Back azimuth) ณ เป้าหมายทั้งสอง ลากแขนของมุมทั้งสองมาตัดกัน จุดที่เส้นทั้งสองตัดกันคือตำแหน่งของผู้สังเกต

 

ภาพ การสกัดกลับโดยใช้เข็มทิศและไม้โปรแทรกเตอร์ ที่มา : สรรค์ใจ กลิ่นดาว (2531)
ภาพ การสกัดกลับโดยใช้เข็มทิศและไม้โปรแทรกเตอร์ ที่มา : สรรค์ใจ กลิ่นดาว (2531)

 

– การสกัดกลับโดยการแสดงด้วยวิธีกราฟิก วิธีนี้ไม่ต้องวัดมุม แต่ใช้การเล็งด้วยไม้บรรทัดหรือไม้เล็งอื่นๆ มีวิธีการปฏิบัติดังนี้โดย กางแผนที่ออกวางให้ถูกทิศทาง สังเกตหาเป้าหมายที่เด่นชัดอย่างน้อย 3 เป้าหมาย ในภูมิประเทศ และต้องเป็นเป้าหมายที่ปรากฏในแผนที่ด้วย สมมติให้ตำแหน่ง A B และ C ในภูมิประเทศซึ่งปรากฏอยู่ในแผนที่ a b และ c ตามลำดับ ตำแหน่งทั้งสองควรจะมีง่ามมุมไม่เกิน 90 องศา จากตำแหน่งผู้สังเกต

3. การหาตำแหน่งโดยวิธีสกัดตรง (Intersection)

การสกัดตรง เป็นวิธีการกำหนดตำแหน่งของที่หมายใดๆ ในภูมิประเทศลงในแผนที่ โดยต้องมีเป้าหมายที่ทราบตำแหน่งแล้วอย่างน้อย 2 แห่ง การสกัดตรงทำได้ดังนี้ การสกัดตรงโดยใช้เข็มทิศและไม้โปรแทรกเตอร์วิธีการปฏิบัติ ดังนี้

– เลือกตำแหน่งของผู้สังเกตที่เห็นเด่นชัด มีปรากฏตรงกันทั้งในแผนที่และในภูมิประเทศและเป็นตำแหน่งที่ลากเส้นตัดกันได้จากตำแหน่งที่ 1 เล็งเข็มทิศไปยังเป้าหมายแล้วบันทึกค่ามุมแอซิมัทที่วัดได้แล้วเดินไปยังตำแหน่งที่ 2 ทำเช่นเดียวกันกับครั้งแรก

– กางแผนที่ออก สร้างแนวทิศเหนือแม่เหล็กให้สัมผัสกับตำแหน่งที่ 1 แล้วใช้ไม้โปรแทรกเตอร์สร้างมุมแอซิมัท ทำเช่นเดียวกันกับตำแหน่งที่ 2 ลากแขนของมุมแอซิมัท จากตำแหน่งทั้งสองมาตัดกันก็จะได้ตำแหน่งเป้าหมายที่ต้องการ

– ส่วนการสกัดตรงโดยแสดงด้วยวิธีกราฟิก มีวิธีการปฏิบัติ ดังนี้

1) เลือกตำแหน่งของรายละเอียดในภูมิประเทศให้ตรงกับรายละเอียดตำแหน่งในแผนที่อย่างน้อย 2 แห่ง วางแผนที่ลงบนพื้นราบ จัดแผนที่ให้ถูกทิศทาง จากตำแหน่งที่ 1 ใช้ไม้บรรทัดเล็งให้ตรงไปยังเป้าหมาย ลากเส้นจากตำแหน่งสังเกตให้ตรงไปยังเป้าหมาย

2) จากตำแหน่งที่ 2 ใช้ไม้บรรทัดวางให้สัมผัสจุดที่ 2 เล็งให้ตรงไปยังเป้าหมายเดิมลากเส้นตรงจากจุดนี้ตรงไปยังเป้าหมาย ซึ่งจะไปตัดกับเส้นตรงที่ลากจากจุดแรก ณ จุดหนึ่งคือตำแหน่งของเป้าหมายนั่นเอง

ภาพการสกัดตรงโดยใช้เข็มทิศและไม้โปรแทรกเตอร์ ที่มา : สรรค์ใจ กลิ่นดาว (2531)
ภาพการสกัดตรงโดยใช้เข็มทิศและไม้โปรแทรกเตอร์
ที่มา : สรรค์ใจ กลิ่นดาว (2531)

 

ที่มา : ตำราเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศศาสตร์

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN