การอ่านแผนที่ : ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะของภูมิประเทศที่ปรากฏอยู่บนแผนที่ ได้แสดงลักษณะโดยเส้นชั้นความสูงรูปแบบต่างๆดังต่อไปนี้

  1. ภูเขาและยอดเขา (Mountain/ Hill and Peak) บริเวณที่เส้นชั้นความสูงล้อมเป็นวงซ้อนกันหลายวงๆ คือภูมิประเทศที่เป็นภูเขา พื้นที่ซึ่งอยู่ตรงกลางของเส้นชั้นความสูงรอบในสุดมีระดับความสูงสูงสุดคือ ยอดเขาที่สำคัญมักบอกระดับความสูงของจุดสูงสุดของยอดเขาไว้ด้วย
  2. สันเขา (Ridge) คือ แนวต่อเนื่องของจุดสูงสุดของภูเขาที่ติดต่อกัน หาได้ในแผนที่โดยการลากเส้นไปตามแนวที่มีระดับความสูงมากที่สุด ซึ่งสังเกตได้จากเส้นชั้นความสูง

 

ภาพสันเขา
ภาพสันเขา
ภาพสันเขา
ภาพสันเขา

 

  1. จมูกเขา (Spur) คือ ส่วนที่แยกออกจากแนวสันเขาใหญ่ลาดลงสู่หุบเขาใหญ่ เส้นชั้นความสูงบริเวณจมูกเขามีลักษณะโค้งยื่นไปสู่ลำน้ำสายใหญ่ ส่วนสองข้างของจมูกเขาขนาบด้วยลำน้ำสาขา

 

ภาพสมูกเขา
ภาพจมูกเขา

 

  1. สันเขารูปอานม้าหรือกิ่ว (Saddle) คือ ส่วนของสันเขาที่หยักต่ำลง เส้นชั้นความสูงบริเวณดังกล่าวไม่ติดต่อเป็นวงกลมเดียวกัน แยกออกเป็นคนละวง
  2. หุบเขา (Valley) เป็นบริเวณที่เส้นชั้นความสูงมีระดับความสูงลดลงไปเรื่อยๆ จนถึงที่ต่ำสุดซึ่งเป็นร่องน้ำ มีแม่น้ำหรือลำธารไหลผ่าน เส้นชั้นความสูงมีลักษณะหยักเป็นมุมแหลมขึ้นไปทางต้นน้ำ

 

ภาพหุบเขา
ภาพหุบเขา

 

  1. โกรกธาร (Gorge) เส้นชั้นความสูงที่อยู่ในหุบเขา มีลักษณะเรียงขนานกันและชิดกันมาก
  2. หน้าผา (Cliff) เส้นชั้นความสูงอยู่ชิดกันมาก หรือซ้อนทับกันถ้าหากเป็นหน้าผาชัน

 

ภาพหน้าผาชัน
ภาพหน้าผาชัน

 

  1. แอ่ง (Sink) เส้นชั้นความสูงแสดงแอ่งน้ำล้อมเป็นวงเดียวหรือหลายวงล้อมรอบกัน
  2. ที่ราบ (Plain) เส้นชั้นความสูงอยู่ห่างกันมากหรือแทบไม่มีเส้นชั้นความสูงผ่านเลย
  • ภูมิประเทศคาสต์ (Karst topography) คือ บริเวณซึ่งมีการระบายน้ำใต้ดิน บนพื้นผิวภูมิประเทศหินปูนในเขตภูมิอากาศชุ่มชื้น เช่น ประเทศไทย มักปรากฏยอดเขาโดดๆ อยู่สลับกับหลุมยุบ (Sinkhole) เส้นชั้นความสูงในบริเวณดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นวงๆ อยู่กระจายกันสลับกับวงของเส้นชั้นความสูงแสดงแอ่งต่ำบริเวณดังกล่าวนี้มักจะไม่มีร่องน้ำบนพื้นผิว เนื่องจากน้ำซึมลงในหินปูน และรวมเป็นลำธารใต้ดินบ้าง น้ำซับบ้าง
  • ความลาด (Slope) ของภูมิประเทศมีหลายลักษณะ เช่น ความลาดเป็นแบบลาดสม่ำเสมอ (Uniform slope) ความลาดเว้า (Concave slope) และความลาดนูน (Convex slope)จากแผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1:50,000 ซึ่งมีสัญลักษณ์แสดงค่าความสูงของภูมิประเทศโดยใช้เส้นชั้นความสูงที่มีค่าของความต่างของเส้นชั้นความสูงเท่ากับ 20 เมตร สามารถตีความลักษณะความลาดชันของภูมิประเทศทั้งสามแบบได้ โดยพิจารณาจากความห่างของเส้นชั้นความสูงได้ดังนี้

– ความลาดแบบสม่ำเสมอ พิจารณาได้จากบริเวณที่เส้นชั้นความสูงมีระยะห่างเท่าๆ กัน ถ้าเส้นชั้นความสูงเหล่านั้นอยู่ห่างกันอย่างสม่ำเสมอแสดงว่าพื้นที่นั้นมีความลาดชันน้อย แต่ถ้าเส้นชั้นความสูงเหล่านั้นอยู่ชิดกันอย่างสม่ำเสมอ แสดงว่าพื้นที่บริเวณนั้นมีความลาดชันมาก

 

ภาพความลาดสม่ำเสมอไม่ชัน
ภาพความลาดสม่ำเสมอไม่ชัน

 

– ความลาดเว้า เป็นลักษณะของภูมิประเทศที่มีความลาดชันไม่สม่ำเสมอ โดยมีส่วนบนค่อนข้างชันมากกว่าส่วนล่าง ความลาดเว้าสามารถพิจารณาได้จากเส้นชั้นความสูงที่อยู่ในที่สูงมีระยะชิดกันและค่อยๆ ห่างกันในระดับต่ำลงมา

 

ภาพความลาดเว้า
ภาพความลาดเว้า

 

– ความลาดนูน เป็นลักษณะของภูมิประเทศที่มีความลาดชันไม่สม่ำเสมอ โดยมีพื้นที่ส่วนบนค่อนข้างชันน้อยกว่าส่วนล่าง ความลาดนูนสามารถพิจารณาได้จากเส้นชั้นความสูงที่มีลักษณะตรงกันข้ามกับความลาดเว้ากล่าวคือ เส้นชั้นความสูงที่อยู่ในระดับต่ำอยู่ชิดกันและค่อยๆ ห่างขึ้นในระดับความสูงมากขึ้นไป

 

ภาพความลาดนูน
ภาพความลาดนูน

 

ที่มา : ตำราเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศศาสตร์

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN