การอ่านแผนที่ : เส้นชั้นความสูง

เส้นชั้นความสูง คือ เส้นสมมติที่ลากไปตามพื้นภูมิประเทศบนแผนที่ภูมิประเทศ ผ่านจุดที่มีระดับความสูงเดียวกัน ในแผนที่ภูมิประเทศ เส้นชั้นความสูงแสดงด้วยสีน้ำตาล และมีสีน้ำตาลเข้มในกรณีที่เป็นเส้นชั้น

ความสูงหลัก (Index contour) เส้นชั้นความสูงมีคุณสมบัติดังนี้

– เส้นชั้นความสูงทุกเส้นแสดงค่าระดับความสูงในแนวตั้ง

– เส้นชั้นความสูงทุกเส้นอยู่ในพื้นแนวนอนและระนาบเดียวกัน

– เส้นชั้นความสูงแสดงรูปแบบ และลักษณะภูมิประเทศ

– เส้นชั้นความสูงเป็นเส้นปิด คือ บรรจบตัวเองเป็นวงๆ ไป แต่ในแผนที่ระวางเดียวอาจไม่ปรากฏเส้นวงปิดที่สมบูรณ์ได้เมื่อนำแผนที่ระวางติดต่อมาต่อเข้าจึงบรรจบเป็นวงปิด

– เส้นชั้นความสูงแต่ละช่วงเส้นอาจจะมีระยะห่างต่างๆ กันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศถ้าหากพื้นที่ลาดชันมากเส้นชั้นความสูงชิดกันมากกว่าภูมิประเทศที่มีความลาดชันน้อย

– เส้นชั้นความสูงโดยทั่วไปไม่ทับกัน ยกเว้นบริเวณที่เป็นหน้าผา

– เส้นชั้นความสูงมักหันด้านหยักแหลมไปยังด้านต้นน้ำ

– ทุกๆ ตำแหน่งบนเส้นชั้นความสูงเดียวกันมีค่าความสูงเท่ากัน

เนื่องจากภูมิประเทศบนพื้นผิวโลกมีลักษณะแตกต่างกันหลายแบบ บริเวณซึ่งเป็นที่สูงชันมีเส้นชั้นความสูงจำนวนมากอยู่ชิดกัน ทำให้ดูสับสนจำเป็นต้องหาวิธีให้ดูง่ายขึ้น โดยการกำหนดเส้นชั้นความสูงหลักขึ้นส่วนบริเวณซึ่งมีความลาดชันน้อยมีเส้นชั้นความสูงห่างกันมาก พื้นที่บางแห่งเป็นแอ่งจำเป็นต้องมีเส้นชั้นความสูงซึ่งมีลักษณะพิเศษออกไปเพื่อที่จะได้สังเกตเห็นได้ง่าย เป็นต้น ด้วยเหตุนี้เส้นชั้นความสูงจึงมีหลายชนิด นักภูมิศาสตร์ได้กำหนดลักษณะและสัญลักษณ์ของเส้นชั้นความสูงออกเป็น 5 แบบ เพื่อให้ผู้ใช้แผนที่สามารถพิจารณาลักษณะภูมิประเทศได้โดยสะดวกและรวดเร็วดังต่อไปนี้ คือ

– เส้นชั้นความสูงหลัก (Index contour) เส้นชั้นความสูงชนิดนี้เป็นเส้นชั้นความสูงหลักบอกค่าระดับความสูงด้วยเลขลงตัว เช่น 100 200 และ 300 เป็นต้น และมีความหนาทึบใหญ่กว่าเส้นชั้นความสูงอื่นๆ จึงสังเกตได้ง่าย และปกติมีตัวเลขกำกับไว้

– เส้นชั้นความสูงแทรก (Supplemental contour) เส้นชั้นความสูงชนิดนี้เป็นเส้นชั้นความสูงแทรกอยู่ระหว่างเส้นชั้นความสูงรอง เพื่อแสดงความสูงเสริมเพราะบริเวณนั้นมีเส้นชั้นความสูงรองห่างกันมาก เส้นชั้นความสูงแทรกแสดงด้วยเส้นประ ในแผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1:50,000 กำหนดเส้นชั้นความสูงแทรกช่วงละ 10 เมตร ดังนั้นแต่ละเส้นชั้นความสูงจึงกำหนดตัวเลขของระดับความสูงไว้ที่เส้นดังตัวอย่างต่อไปนี้ 30 50 70 90 110 130 และ 150 เป็นต้น

– เส้นชั้นความสูงประมาณ (Approximate contour) เส้นชั้นความสูงชนิดนี้เป็นเส้นชั้นความสูงที่กำหนดขึ้นเองโดยประมาณ ทั้งนี้เพราะผู้ทำแผนที่ไม่ได้ข้อมูลระดับความสูงที่แท้จริงบริเวณดังกล่าว อาจเป็นเพราะรูปถ่ายทางอากาศซึ่งนำมาใช้เขียนแปลเป็นแผนที่ภูมิประเทศนั้นถูกเมฆบัง ดังนั้นในบริเวณดังกล่าวจึงใช้เส้นประเพื่อประมาณความสูงต่อจากเส้นชั้นความสูงหลัก หรือเส้นชั้นความสูงรอง

– เส้นชั้นความสูงของแอ่ง (Depression contour) เส้นชั้นความสูงชนิดนี้เป็นเส้นชั้นความสูงซึ่งต่ำกว่าบริเวณรอบๆ ของเส้นชั้นความสูงอื่นๆ เส้นชั้นความสูงชนิดนี้มีลักษณะพิเศษตรงที่มีขีดสั้นๆ ในแนวที่ตั้งได้ฉากกับเส้นชั้นความสูง ปลายของขีดหันไปทางด้านลาดลง

ภาพชนิดของเส้นชั้นความสูง
ภาพชนิดของเส้นชั้นความสูง

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN