ข้อมูล (Data) : หลักการหรือแนวคิดเกี่ยวกับมาตรฐาน (The concept of standard)

วัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอว่ามาตรฐานและกรรมวิธีการเข้าสู่มาตรฐานนั้นมีอะไรได้รับการพัฒนาขึ้นมาบ้าง และทำไมมาตรฐานและกระบวนการเหล่านี้จึงมีความสำคัญในการพัฒนาและปฏิบัติการด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์

ในปัจจุบัน ยังมีความไม่เข้าใจเป็นอย่างมากในกลุ่มผู้ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เกี่ยวกับบทบาทและเนื้อหาของมาตรฐานสารสนเทศภูมิศาสตร์ สาเหตุใหญ่เกิดจากความเห็นที่แคบๆ ที่มองว่ามาตรฐานระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ก็คือรูปแบบของการแลกเปลี่ยนหรือโอนถ่ายข้อมูลเพียงอย่างเดียว (Data transfer formats) แม้ว่าจะเป็นความจริง แต่ก็ไม่ใช่เพียงสิ่งเดียวของการพิจารณาการพัฒนามาตรฐานสารสนเทศภูมิศาสตร์

ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เทคโนโลยีสารสนเทศปัจจุบันนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมี “มาตรฐาน” เพราะมิฉะนั้นแล้ว การสื่อสารจะเป็นไปได้ยากหรือไม่ได้เลย เนื่องจากไม่สามารถควบคุมเครื่องมือ อุปกรณ์ ภาษาพูดภาพและเสียง และสัญญาณภาพซึ่งอาจเป็นเพียงกองขยะที่ประกอบไปด้วยเลข 0 และ 1 เท่านั้น เป็นที่ชัดแจ้งว่าประเด็นของมาตรฐานข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์นั้นมีมากกว่ารูปแบบของข้อมูลเท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นการดีและมีประโยชน์หากว่าได้มีการตรวจสอบดูหลักการของมาตรฐานของเทคโนโลยีสารสนเทศ ถ้ามีความเข้าใจถึงหลักการของมาตรฐานและการเข้าสู่มาตรฐานด้วยแล้ว ความเป็นห่วงในเรื่องมาตรฐานระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และความเกี่ยวข้องกับมาตรฐานอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็สามารถที่จะนำมาพิจารณาและทบทวนได้

1. มาตรฐานคืออะไร? (What is a standard?)

คำว่า “มาตรฐาน” ได้มีการบัญญัติไว้ในพจนานุกรมของ Oxford ว่า คือ “บางสิ่งบางอย่างซึ่งใช้เพื่อการทดสอบหรือการวัด หรือการกำหนดน้ำหนัก ความยาว คุณภาพ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งการบรรลุวัตถุประสงค์ และถึงความสำเร็จมากที่สุด” มาตรฐาน คือ ส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น เราวัดระยะทาง น้ำหนัก และปริมาตรโดยใช้หน่วยของมาตรฐานเป็นมาตราเมตริก หรือเป็นหน่วยของมาตรฐานอังกฤษ แต่ในคู่มือนี้เราจะเกี่ยวข้องเฉพาะมาตรฐานที่เกี่ยวโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อเทคโนโลยีสารสนเทศเท่านั้น

การที่จะทำความเข้าใจกับมาตรฐานและเทคโนโลยีสารสนเทศ เราอาจพิจารณากรณีของภาษา ซึ่งเป็นหลักการในการที่คนเราจะใช้พูดต่อกันและกันนั้น ใช้หลักการของเสียงประกอบขึ้นเป็นคำ ซึ่งสามารถใช้กับหลักการบางอย่าง ด้วยคำพูดผู้พูดสามารถอ้างถึงสิ่งต่างๆ ในจักรวาลได้โดยจะมีความกำกวมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คุณสมบัติส่วนใหญ่ของภาษาใช้ได้กับมาตรฐานสารสนเทศ รวมทั้งความสามารถในการสื่อสารต่างๆ ด้วย แม้กระนั้นก็ตามภาษา และมาตรฐานสารสนเทศก็มีความแตกต่างกัน มนุษย์มีความอดทนและความยืดหยุ่นต่อความคลุมเครือได้ดีกว่าเครื่องมือ (Machine) เพราะว่ามาตรฐานของเครื่องมือจะต้องคงเส้นคงวาและไม่กำกวม หลักเกณฑ์สองอย่างจะต้องมีส่วนคล้ายคลึงกันมากที่สุดจึงจะสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ ภาษาเป็นเรื่องเกี่ยวกับอินทรียภาพ มีวิวัฒนาการ และเป็นสากล ส่วนมาตรฐานเป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบและใช้ได้เฉพาะกับเครื่องมือเฉพาะอย่างเท่านั้น มาตรฐานจะเกิดขึ้นได้หลังจากได้วิวัฒนาการขึ้นมา (Evolved) แล้วมีการสร้างและมีการพิสูจน์แล้วเท่านั้น (Invented and proved)

2. ทำไมจึงต้องมีและใช้มาตรฐาน? (Why standards?)

เครื่องมือที่ใช้สำหรับการที่จะสื่อสารด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ที่เป็นระบบบิต ที่ประกอบด้วยเลข 1 และ 0จะต้องมีวิธีการที่จะจัดรูปแบบ (Arrange) จำแนก (Classify) และแปลตีความ (Interpret) บิตเหล่านี้อย่างเป็นระบบที่คงเส้นคงวา ส่วนใหญ่แล้วเครื่องมือเชิงตัวเลข (Digital device) มีวิธีการทำงานเป็นแบบเฉพาะตัว เช่น ตัวเลขบางอย่างอาจใช้แทนภาพ เสียง หรือคำสั่งก็ได้ แต่บทบาทต่างๆ จะดูเด่นชัดขึ้นเมื่อเครื่องมืออย่างหนึ่งจะต้องทำงานร่วมกับเครื่องมืออีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือการสื่อสารระหว่างเครื่องมือสองอย่างจะต้องเริ่มต้นขึ้น ข้อมูลข้อสนเทศจากเครื่องมือหนึ่งจะต้องเป็นที่เข้าใจของอีกเครื่องหนึ่งด้วย ซึ่งจะเป็นไปได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่งใน 3 วิธี คือ

1) เครื่องมือทั้งสองจะต้องใช้วิธีการแปลตีความบิตที่เหมือนกัน

2) เครื่องมืออีกเครื่องหนึ่งต้องยอมใช้ “มาตรฐาน” หรือ “วิธีการ” ของอีกเครื่องหนึ่ง

3) จะต้องมีผู้แปลอยู่ระหว่างเครื่องมือทั้งสองเพื่อทำการแปลข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกันให้สอดคล้องกันถ้าวิธีใดวิธีหนึ่งไม่ได้เตรียมไว้ จะทำให้เครื่องมือทั้งสองไม่สามารถเข้าใจซึ่งกันและกันได้

มาตรฐานเป็นเครื่องมือซึ่งสามารถทำให้การสื่อสารเป็นที่เข้าใจกันได้ โดยวิธีการกำหนดความหมายให้แก่ บิต และไบต์ (Byte) อย่างเป็นระเบียบ

มาตรฐานควรคงเส้นคงวา ไม่กำกวม และกว้างขวางเพียงพอที่จะครอบคลุมสิ่งที่ต้องการสื่อสาร และยืดหยุ่นเพียงพอที่จะผนวกเอาข่าวสารอื่นที่ไม่ได้อยู่ในความคิดลงไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มาตรฐานเป็นจุดศูนย์กลางของสารสนเทศ แม้ว่าจะอยู่ภายในขอบเขดขององค์กรเดียวก็ตาม ได้มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่าหน้าที่หลักของเจ้าหน้าที่ข้อมูล (Information officer) ขององค์กร คือ การจัดให้มีมาตรฐานเพื่อให้เกิดความสอดคล้องและเกิดการเชื่อมประสาน (Interface) กันได้เหลือเพียงแต่ให้ส่วนที่ทำงานต่างๆ ได้เลือกฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และข้อมูลเอาเอง

3. ข้อดีหรือข้อได้เปรียบของการมีมาตรฐาน (Advantages of standards)

มาตรฐานสามารถช่วยแก้ปัญหาบางอย่างได้ เช่น การนำเสนอได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือสามารถบริหารจัดการระบบสื่อสาร และสามารถทำให้ได้ประโยชน์ เช่น สามารถใช้ในการปฏิบัติการร่วมกันได้ สามารถนำไปใช้ในที่ต่างๆ ได้ ใช้ง่าย สามารถเลือกได้และมีผลดีทางเศรษฐกิจ (Economy of scale) ซึ่งจะเกิดมีได้ก็ต่อเมื่อมีหลายๆ ระบบดำเนินการต่างๆ ไปในทางเดียวกัน

4. ความสามารถดำเนินการร่วมกันได้ การนำไปใช้ในที่ต่างๆ ได้ และการแลกเปลี่ยนข้อมูล (Interoperability, portability and data exchange)

แม้ว่าทั้งสามคำจะมีความคล้ายคลึงกัน แต่ก็ไม่เหมือนกันในแง่ของมาตรฐาน Interoperability คือ ความสามารถในการสื่อสารกันได้ระหว่างระบบต่างๆ ถ้าภายใต้ภาวะแวดล้อมของการทำงานหนึ่งมีสภาพของฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ที่เหมือนกัน ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องการทำงานร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ลักษณะที่เป็นหนึ่งเดียวกันเช่นนี้จะหาได้ยากมากในความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในองค์กรที่ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ มาตรฐานหลายตัวจะเกี่ยวกับการที่เครื่องมือชนิดหนึ่งต้องการที่จะสื่อสารกับเครื่องมืออีกชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง

Portability คือ ลักษณะหรือความสามารถที่จะใช้ซอฟต์แวร์ที่เขียนขึ้นสำหรับเครื่องมือชนิดหนึ่งกับเครื่องมืออีกชนิดหนึ่งได้ เป็นการเปรียบเทียบถึงความคล่องตัวในการใช้งาน ลักษณะเช่นนี้มีความสำคัญมากในการพิจารณาเลือกภาษาสำหรับการเขียนโปรแกรม (Programming language) ในคอมพิวเตอร์และระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์ (Computer operating system) คุณค่าของซอฟต์แวร์จะมีเพิ่มขึ้นถ้าฟังก์ชันของซอฟต์แวร์นั้นๆ สามารถใช้ได้โดยโปรแกรมอื่นอย่างคงเส้นคงวา คุณค่าของคำว่า การนำไปใช้ในที่ต่างๆ ได้ จะอยู่ที่ความสามารถในการประหยัดค่าใช้จ่ายได้ และความมีมาตรฐานสามารถเพิ่มคุณค่าให้คำว่าการนำไปใช้ในที่ต่างๆ อีกด้วย

คำว่าการนำไปใช้ในที่ต่างๆ ได้ ไม่เหมือนกับคำว่า การดำเนินงานร่วมกันได้เสียทีเดียว เพราะการนำไปใช้ในที่ต่างๆ ได้นั้น ผู้เขียนโปรแกรมสามารถเขียนรหัสสำหรับระบบหนึ่งแล้วสามารถเปลี่ยนให้ใช้กับอีกระบบหนึ่งได้ส่วนการดำเนินงานร่วมกันได้นั้น ผู้ใช้สามารถเข้าถึงระบบหนึ่งได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องของฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ (คือใช้ร่วมกันได้โดยตรง)

Data exchange หรือความสามารถในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นสิ่งที่กล่าวถึงกันมากว่าเป็นความจำเป็นของการมีมาตรฐาน ตัวอย่างของการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เห็นได้ชัดในระยะเริ่มต้นได้แก่ความพยายามในการที่จะให้โปรแกรมใน Word processor ที่ต่างชนิดกันสามารถที่จะเข้าใจและแลกเปลี่ยนเอกสารซึ่งกันและกันได้ ในการนี้จะต้องใช้ความพยายามส่วนใหญ่ในการแปลความหมายของข้อมูลหรือเอกสารซึ่งผลิตโดยโปรแกรมหนึ่งให้ใช้ได้กับอีกโปรแกรมหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ดังนั้นมาตรฐานที่ใช้ในการแสดงลักษณะที่ไม่ใช่ตัวอักษร (Non-text features) ให้เป็นที่เข้าใจระหว่างเครื่องมือหลายชนิดจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากในการใช้เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อให้เกิดการมีประสิทธิภาพและคงเส้นคงวาได้

5. การมีทางเลือกและความมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ (More choice and economies of scale)

มาตรฐานสามารถขยายวงของการเลือกออกไปได้ในระดับหนึ่งในขณะที่ต้องจำกัดในอีกระดับหนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ในเวลาที่ผ่านมาคือการแข่งขันกันในตลาดของผู้ผลิตเครื่องบันทึกวิดีโอที่เรียกว่า Video Cassette Recorder (VCR) มีการแข่งขันกัน 2 รูปแบบคือ VHS และ Betamax ก่อนที่ VHS จะเป็นผู้ชนะและใช้ในท้องตลาดเป็นมาตรฐานนั้น (ตอนปลายทศวรรษที่ 1980) วิดีโอที่เป็นเรื่องที่คนนิยมจะต้องผลิตอยู่ทั้งสองรูปแบบคือ ทั้ง VHS และBetamax ทำให้เพิ่มรายจ่ายทั้งในการผลิตและการเผยแพร่ อีกทั้งยังยุ่งยากแก่ผู้ใช้ด้วย

มาตรฐานของความสามารถใช้ร่วมกัน (Interface standards) ได้เปิดให้มีทางเลือกที่จะใช้ระบบต่างๆ ที่ไม่เหมือนกันได้ ซึ่งสมัยก่อนนั้นจะต้องซื้อเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว ตัวอย่างของการเลือกที่จะใช้ระบบต่างๆ ร่วมกันได้นั้น จะเห็นได้ง่ายๆ เช่น เราสามารถที่จะแต่งเอกสารโดยใช้ Microsoft word program บนคอมพิวเตอร์ที่ใช้ Intel pentium เป็น CPU และใช้ฮาร์ดดิสก์ของ Seagate ใช้ Matrox graphic card ใช้มอนิเตอร์ของ Sony ใช้คีย์บอร์ดของ IBM และเมาส์ของ Microsoft เป็นต้น แล้วส่งเอกสารที่แต่งเสร็จแล้วไปพิมพ์บนเครื่องพิมพ์ของ Hewlett-Packard หรืออาจส่งไปให้ผู้ร่วมงานโดยผ่านทางอินเทอร์เน็ตเพื่อขอความเห็น ซึ่งเขาอาจใช้โปรแกรม Word perfect ในเครื่องของเขาก็ได้ จะเห็นได้ว่าฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่กล่าวถึงทั้งหลายนั้น สามารถทำงานร่วมกันได้ดีต้องขอบคุณฝ่ายที่ทำให้เกิดมาตรฐานที่เรียกว่า “PC-clone standards” โดยมาตรฐานของ PC-clone นี้เป็นสิ่งที่เปิดเผย การเชื่อมประสานระหว่างระบบกลไก ระบบไฟฟ้า ระบบอิเล็กทรอนิกส์ และซอฟต์แวร์อย่างคงเส้นคงวา และมีขายในสาธารณะอย่างแพร่หลาย ทำให้ผู้ใช้สามารถใช้วัสดุอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับการใช้งานทั้งในส่วนตัวหรือในองค์กรโดยที่การที่จะซื้อเครื่องมือใหม่ๆ ผู้ใช้มีโอกาสที่จะเลือกองค์ประกอบต่างๆ ได้ตามคุณสมบัติการใช้งานตาม Functionality ของเครื่อง และตามขีดความสามารถและราคาที่ดีที่สุด (Performance/Price) โดยไม่ต้องเป็นห่วงในเรื่องของยี่ห้อเพราะว่าความสอดคล้องต่างๆ ขององค์ประกอบกับคอมพิวเตอร์ที่จะใช้นั้นแทบจะเรียกได้ว่ารับประกันได้เลยทีเดียว

ผลิตภัณฑ์มาตรฐานโดยทฤษฎีแล้วจะขึ้นอยู่กับการแข่งขันกันมาก ควรทำให้ราคาถูกลง อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติแล้ว ความคิดเช่นนี้อาจไม่จริงเสมอไป เนื่องจากว่ามาตรฐานนั้นได้รับการพัฒนาออกมาเพื่อรองรับทางเลือกได้มากกว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นมาโดยเฉพาะ (Proprietary products) เป็นที่น่าสังเกตและเป็นความจริงในทางปฏิบัติที่ว่าการเข้าสู่ความเป็นมาตรฐานนั้น ผู้ปฏิบัติอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก โดยเงินที่เสียเพิ่มมาจะเป็นการซื้อระบบมาตรฐาน และการดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการให้มีความสอดคล้องและเข้ากันได้กับมาตรฐานที่ต้องการใช้ที่ได้รับการรับรอง คุณค่าของมาตรฐานอยู่ที่การคงไว้ซึ่งการมีทางเลือกในอนาคต

ทางเลือกและความมีคุณค่าทางเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์กันอย่างหนาแน่น นั่นคือการครอบคลุมการตลาดด้วยราคาเดียวจะง่ายและถูกกว่าหลายราคาที่แตกต่างกันออกไป อันเนื่องมาจากความแตกต่างของสินค้ามาตรฐานที่ครอบคลุมกว้างๆ จะเป็นการง่ายต่อการพัฒนาซอฟต์แวร์ออกมาให้ใช้ได้กับเครื่องมืออุปกรณ์หลายประเภท

6. ความง่ายต่อการเรียนรู้ (Ease of learning)

การใช้รูปแบบร่วมกันในหลายฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์จะทำให้ผู้ใช้ซึ่งรู้จักระบบหนึ่งเรียนรู้อีกระบบหนึ่งได้ง่าย ตัวอย่างเช่น มาตรฐานที่เรียกว่า Graphical User Interface (GUIs) ประสบความสำเร็จในการทำให้ Microsoft windows และ Apple macintosh สามารถใช้ซอฟต์แวร์ด้านกราฟิกร่วมกันได้

ความง่ายต่อการเรียนรู้มีผลในทางการใช้คอมพิวเตอร์มาก มาตรฐานของ User interface นั้นประสบความสำเร็จได้ง่าย 2 ประการ คือ (1) ธรรมชาติของมนุษย์มีความยืดหยุ่น ดังนั้นมาตรฐาน User interface จึงไม่จำเป็นต้องมีความสมบูรณ์ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ (2) ธรรมชาติของมนุษย์มีความเชื่องช้า การกดปุ่มคีย์ หรือผลลัพธ์จากจอสามารถเปลี่ยนให้เป็นแบบที่นิยมกันได้โดยไม่ได้สังเกตว่าต้องการเวลาเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น ระบบปฏิบัติการ UNIX สามารถเปลี่ยนให้คล้ายกับ Microsoft windows ได้ หรือเครื่อง Macintosh สามารถใช้แทนระบบ UNIX ได้ด้วย

7. ข้อเสียเปรียบของมาตรฐาน (Drawbacks of standards)

มาตรฐานบางตัวไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเรียบร้อยเนื่องจากการสูญเสียเนื้อหาไปในระหว่างกระบวนการจัดทำ บางตัวก็ไม่ประสบความสำเร็จในการทำตลาดเนื่องจากผู้ใช้ไม่มีความสนใจเนื่องจากเห็นว่าได้ไม่เท่าที่เสียไป เป็นต้น

มาตรฐานไม่มีความสมบูรณ์พร้อมทุกอย่างเสมอไป ตัวอย่างเช่น SQL ซึ่งออกมาใช้แล้วแต่ยังขาดฟังก์ชันที่ถือว่าเป็นพื้นฐานในการจัดการฐานข้อมูล (Date, 1989) ทำให้บริษัทผู้จัดจำหน่ายต้องปรับปรุงแก้ไขอีกเป็นอันมาก ทำให้การใช้ SQL ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร กระบวนการในการจัดทำมาตรฐานอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำโทษผู้ที่มีส่วนช่วยในการทำมาตรฐาน บริษัทคู่แข่งอาจใช้เวทีนี้ดัดแปลงข้อเสนอเพื่อลดความได้เปรียบของกลุ่มริเริ่มก็ย่อมทำได้

กระบวนการพัฒนามาตรฐานอาจมีส่วนปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ โดยอาจหยุดการค้นคว้าหาผลลัพธ์ที่ดีกว่า ถ้า Apple คอมพิวเตอร์ใช้มาตรฐานของ DOS ซึ่งเข้ามาแทนระบบปฏิบัติการ CP/M เก่า Apple ก็จะไม่สามารถนำเอาความคิดใหม่ๆ ในการนำเอา Macintosh เข้ามาสู่ตลาดได้เลย ถ้า Microsoft windows ไม่ปรับเอาความคิดใหม่ๆ ของ Apple มาใช้ ก็จะไม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ หรือไม่ก็จะล่าช้ากว่าที่เป็นไปแล้ว

มาตรฐานเป็นอุปสรรคหรือปิดกั้นการแข่งขันหรือไม่? งานเบื้องต้นของกระบวนการจัดทำมาตรฐานก็คือนำเอาคู่แข่งทางอุตสาหกรรมเข้ามาร่วมกันเพื่อวัตถุประสงค์ของการจำกัดวงของตลาดลง โดยส่วนใหญ่แล้วนี่เป็นการสร้างข้อกำหนดขึ้นมาเพื่อจะตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์ไม่มีมาตรฐาน บริษัทอุตสาหกรรมมักจะได้รับคำกล่าวหาว่าใช้อิทธิพลที่จะทำให้เกิดมาตรฐานเพื่อให้เกิดความได้เปรียบคู่แข่ง และให้เกิดการผูกขาดโดยให้มีมาตรฐานเป็นทางการหรือเป็นมาตรฐานที่ยอมรับโดยปริยาย (de facto standards) ในทางกลับกัน การพัฒนามาตรฐานส่วนเชื่อมประสานระหว่างระบบย่อยๆ จะทำให้บริษัทมีแนวความคิดใหม่ๆ ที่จะผลิตชิ้นส่วนประกอบออกมา แทนที่จะหาวิธีแข่งขันในการผลิตออกมาทั้งระบบ วิธีการนี้จะลดค่าใช้จ่ายในการเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ และส่งเสริมให้เกิดโอกาสแก่ผู้ที่จะเข้ามาร่วมในการแข่งขันกันในระดับชิ้นส่วน

8. อะไรมีส่วนทำให้ได้มาตรฐานที่ดี (What makes a good standard?)

มาตรฐานที่ดีสามารถแก้ปัญหาได้อย่างครบถ้วนและเกิดประโยชน์ในสาขาที่มีการใช้งานร่วมกันช่วงเวลาและความครบถ้วนและครอบคลุมของมาตรฐานเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เป็นมาตรฐานที่ดี

1) ช่วงเวลาที่ถูกต้องและเหมาะสม (Correct timing)

เรื่องความเหมาะสมของช่วงเวลาเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการที่จะมีมาตรฐานใดๆ ถ้าไม่มีการวางแผนอย่างรอบคอบแล้ว มาตรฐานที่พัฒนาออกมาจะต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งคือ ถ้าไม่ช้าเกินไปก็เร็วเกินไปไม่พอดีกับความต้องการ ถ้าออกมาเร็วเกินไปก็จะไม่กระจ่างว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องการจริงๆ และจะเป็นการเสี่ยงต่อหลายๆ อย่างที่อาจจะเป็นสิ่งที่ต้องการจริงๆ และจะเป็นการเสี่ยงต่อหลายๆ อย่างที่อาจเป็นสิ่งที่ไม่ดี ในทางกลับกัน หากมาตรฐานออกมาช้าเกินไป ก็จะมีการจับกลุ่มกันเพื่อวัตถุประสงค์ในด้านผลประโยชน์เกิดขึ้น ซึ่งจะมีบางกลุ่มที่ไม่เต็มใจที่จะยอมรับมาตรฐานที่แตกต่างไปจากรูปแบบที่เขาเหล่านั้นต้องการ

มาตรฐานที่เป็นทางการมักจะมีความก้าวหน้ามากเกินไป และมักจะช้ากว่ากำหนดเสมอ กำหนดการสำหรับการพัฒนามาตรฐานนั้นยากที่จะควบคุมได้ เพราะปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาที่จะบอกได้โดยประเด็นทางเทคโนโลยี และการไม่ลงรอยกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ยังจะต้องขึ้นอยู่กับการผลักดันด้านความต้องการ (Demand push) อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มผู้มีอิทธิพลในตลาดเชิงพาณิชย์ด้วย

2) ความกว้างและความถูกต้องของมาตรฐาน (Correct comprehensiveness)

มาตรฐานส่วนใหญ่ต้องการระดับของความกว้างอย่างเหมาะสม ในกรณีนี้จะเห็นว่ามีความต้องการวิธีการที่คงเส้นคงวาในการแสดงข่าวสาร ในขณะเดียวกันก็ต้องการช่องว่างที่จะหาวิธีในการแสดงผลที่ใหม่ๆ ได้ด้วย

มาตรฐานที่ดีควรจะต่อยอดไปได้อีก ควรจะคาดการณ์ล่วงหน้าและพร้อมที่จะรองรับเทคโนโลยีได้โดยปราศจากการทำให้ระบบและซอฟต์แวร์ที่ใช้เกิดการล้าสมัย มาตรฐานที่ดีนั้นควรมีความโปร่งใส และควรจะให้การเข้าถึงข้อมูลหลายชนิด หรือเครื่องมือต่างๆ โดยที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องรู้กระบวนการทั้งหมด

มาตรฐานที่ดีไม่ควรมีความสลับซับซ้อน มาตรฐานที่ใช้ทรัพยากรด้านคอมพิวเตอร์มาก ต้องการซอฟต์แวร์มากในการใช้ และต้องใช้จ่ายอย่างมากในการบำรุงรักษาจะต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมากในการขายเพื่อนำไปใช้ และก็จะใช้ทรัพยากรทุกด้านอย่างมากต่อไป ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ไม่เหมาะสม

ภาพแสดงให้เห็นว่ามาตรฐานอย่างกว้างๆ นั้นมีได้อย่างไร ที่มา: ดัดแปลงจาก Libicki, 1995
ภาพแสดงให้เห็นว่ามาตรฐานอย่างกว้างๆ นั้นมีได้อย่างไร
ที่มา: ดัดแปลงจาก Libicki, 1995

9. อะไรมีส่วนทำให้มาตรฐานประสบความสำเร็จ? (What makes a successful standard?)

มาตรฐานที่ประสบความสำเร็จ คือ มาตรฐานที่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มผู้ใช้หรือตลาดการค้า

มาตรฐานคือ ผลลัพธ์ที่ได้มาจากแหล่งที่หลากหลายซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มผู้ใช้ กลุ่มบริษัทผู้ขายรัฐบาล กลุ่มที่รวมตัวกันเพื่อกิจกรรมบางอย่าง (Consortia) และมหาวิทยาลัย

กรรมวิธีที่เป็นทางการ (Formalization) เกิดขึ้นโดยผ่านคณะกรรมการระดับชาติหรือระดับนานาชาติและบ่อยครั้งต้องการการอนุมัติโดยรัฐบาล องค์กรระดับชาติที่มักมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนามาตรฐาน ตัวอย่าง เช่น สถาบันมาตรฐานแห่งชาติของอเมริกัน (American National Standard Institute : ANSI) สถาบันมาตรฐานแห่งชาติ (National Institute of Standards : NIST, US) Deutsche Institute for Normung (DIN, Germany) และระบบมาตรฐานของญี่ปุ่น (Japan’s Standard System) คณะกรรมการนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับการทำมาตรฐานเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แก่ International Telecommunication Union (ITU) International Organization for Standardization (ISO) The European Computer Manufacturers Association (ECMA) และ Comete European de Normalisation Electro-technique (CEN/CENELEC)

มาตรฐานที่ดีต้องเป็นที่ต้องการของทั้งบริษัทผู้ขายอุปกรณ์ (Vendors) และกลุ่มผู้ใช้ กลุ่มบริษัทผู้ขายจะให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่เป็นไปได้และสะดวกสบาย ในขณะที่กลุ่มผู้ใช้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับความจำเป็นและความพอเพียง ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตาม มาตรฐานที่ประสบความสำเร็จจะต้องผ่านการตรวจสอบของตลาด ซึ่งผลการทดสอบอาจไม่ทราบล่วงหน้าได้

สิ่งที่จะบอกถึงความสำเร็จของมาตรฐานได้นั้น ก็เปรียบได้เหมือนกับสิ่งที่บอกความสำเร็จของเทคโนโลยี ถ้าทุกอย่างเหมือนกัน มาตรฐานที่ใช้ได้ดีและเร็วกว่าจะเป็นฝ่ายที่ชนะและคงอยู่ต่อไป

 

ที่มา : ตำราเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศศาสตร์

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN