การนำเข้าข้อมูลแรสเตอร์ (Raster data input)

ข้อมูลแรสเตอร์มักจะอยู่ในรูปของข้อมูลเชิงภาพ (Pictorial) เช่น รูปถ่ายทางอากาศ หรือภาพถ่ายดาวเทียม เป็นต้น ข้อมูลแรสเตอร์นี้สามารถนำเข้าสู่ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ได้โดยการใช้อุปกรณ์แปลงข้อมูลที่เรียกว่าเครื่องกราดภาพ อุปกรณ์กราดภาพประกอบด้วย แท่งทรงกระบอกกราดภาพ (Scanning cylinder) ที่ใช้ติดตั้งข้อมูลต้นฉบับและตาอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic eye) ซึ่งจะเคลื่อนที่จากซ้ายไปขวาขณะที่แท่งทรงกระบอกหมุนรอบด้วยความเร็วคงที่ ข้อมูลในลักษณะของระดับความเข้มของแสงจะถูกแปลงเป็นข้อมูลเชิงเลขในหน่วยจุดภาพ ซึ่งมีค่าอยู่ระหว่าง 0-255 สำหรับภาพขาว-ดำ และทำการแยกภาพสีออกเป็นแม่สี คือ สีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน สำหรับเครื่องกราดภาพสี (Color scanner)

การนำเข้าข้อมูลแรสเตอร์นี้มีลักษณะเป็นการนำเข้าแบบอัตโนมัติ ผู้ปฏิบัติงานจะนำเอาภาพต้นฉบับที่ต้องการจะแปลงข้อมูลขึ้นติดตั้งบนแท่งทรงกระบอกกราดภาพ จากนั้นก็จะทำการเลือกค่าขนาดของหน่วยภาพที่เหมาะสมที่จะทำการแปลงข้อมูลเชิงภาพให้เป็นข้อมูลเชิงเลข โดยทั่วไปหากจุดภาพมีขนาดเล็กก็จะยิ่งให้รายละเอียดสูงแต่ขนาดของแฟ้มข้อมูลจะมีขนาดใหญ่และใช้เวลาในการแปลงข้อมูลเป็นเวลานาน ในทางตรงกันข้ามหากจุดภาพมีขนาดใหญ่ แฟ้มข้อมูลที่ได้ก็จะมีขนาดเล็กและเวลาที่ใช้ในการแปลงข้อมูลก็จะรวดเร็วแต่รายละเอียดที่ได้จะต่ำ ดังนั้นการเลือกขนาดของจุดภาพที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากมีความสัมพันธ์โดยตรงกับประสิทธิภาพของการแปลงข้อมูล และสมควรที่จะได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ

 

ที่มา : ตำราเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศศาสตร์

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN