พารามิเตอร์ของระบบเรดาร์

1. สมการเรดาร์ (RADAR equation)

006_RADAR equation

PR = พลังงานทั้งหมดที่รับ (Total power received)

PT = พลังงานที่ส่งออก (Power transmitted)

σ0 = การกระจายเรดาร์ต่อหน่วยพื้นที่ หรือสัมประสิทธิ์การกระจัดกระจาย (Radar scatter coefficient)

A = พื้นที่หน้าตัด (RADAR cross section)

G = อัตราการขยายจากสายอากาศ (Antenna gain)

R = ระยะทางแนวพิสัย (Range)

λ = ช่วงคลื่น (Wavelength)

จากสมการจะเห็นได้ว่ามีปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความเข้มของพลังงานที่กระจัดกระจายกลับ คือ พลังงานที่ส่งออกความยาวคลื่น ขนาดของสายอากาศรับสัญญาณ เรขาคณิตของการถ่ายภาพ เช่น ความกว้างของลำแสงมุมตกกระทบ และระยะทาง เป็นต้น

2. สเปกตรัมแม่เหล็กไฟฟ้าช่วงคลื่นเรดาร์

ช่วงคลื่นเรดาร์เป็นช่วงคลื่นที่สูงกว่าคลื่นแสงสว่างและคลื่นความร้อน ซึ่งในทางเทคโนโลยีการรับรู้จากระยะไกล อยู่ระหว่าง 1 มิลลิเมตร ถึง 1 เมตร ซึ่งเป็นช่วงคลื่นไมโครเวฟ (ภาพที่ 3.58) และมักนิยมใช้ตัวอักษรที่เป็นมาตรฐานบอกช่วงคลื่น ตามภาพ เรียงลำดับจากสั้นไปยาว คือ แบนด์ Ka K Ku X C S L UHF และ P ซึ่งได้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างแบนด์ต่างๆ กับความยาวคลื่นและความถี่

ภาพสเปกตรัมแม่เหล็กไฟฟ้า
ภาพสเปกตรัมแม่เหล็กไฟฟ้า
ภาพแสดงความยาวคลื่น ความถี่ และตัวอักษรแบนด์เรดาร์ ที่มา : Henderson, F.M. and Lewis, A.J. (1998)
ภาพแสดงความยาวคลื่น ความถี่ และตัวอักษรแบนด์เรดาร์
ที่มา : Henderson, F.M. and Lewis, A.J. (1998)

3. โพลาไรเซชัน (Polarization)

โพลาไรเซชัน หมายถึง ทิศทางการแผ่กระจายของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งจะมีการกระจายทั้งแนวตั้งและแนวนอนโดยระบบเรดาร์สามารถที่จะส่งหรือรับสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในทิศทางการแผ่กระจายทั้งแนวตั้ง (Vertical : V) และแนวนอน(Horizontal : H) เมื่อส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในทิศทางการแผ่กระจายทางแนวนอน (H) และรับคลื่นการแผ่กระจายในแนวนอน (H) จะใช้สัญลักษณ์ HH ในทำนองเดียวกันก็มีการรับส่งเป็น HV VH และ VV ในทิศทางการแผ่กระจาย ทั้งนี้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคลื่นเรดาร์กับวัตถุสำหรับโพลาไรเซชันที่ต่างกันจะไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของวัตถุ

ภาพโพลาไรเซชัน
ภาพโพลาไรเซชัน

4. พิสัยและแอซิมัท (Range and Azimuth)

การถ่ายภาพเรดาร์เป็นแบบระบบการถ่ายด้านข้างและจะสะสมข้อมูลไปอย่างต่อเนื่อง มิติของการถ่ายภาพที่มีทิศทางไปตามแนวการบิน เรียกว่า แอซิมัท มิติของการถ่ายภาพที่ขวางแนวการบิน เรียกว่า พิสัย ขอบภาพที่ใกล้จุดตรงใต้เรดาร์ เรียกว่า ขอบพิสัยใกล้ (Near range edge) ส่วนขอบภาพที่ไกล เรียกว่า ขอบพิสัยไกล (Far range edge)

ภาพเรขาคณิตของเรดาร์จากเครื่องบิน
ภาพเรขาคณิตของเรดาร์จากเครื่องบิน

5. ความละเอียด

ความละเอียด หมายถึง ความสามารถของระบบที่จะแยกจากกันระหว่างวัตถุสองอย่างที่ใกล้กันในระบบเรดาร์ ความละเอียดจะกำหนดทั้งทิศทางตามพิสัย (ขวางแนวโคจร) และทิศทางตามแอซิมัท (ตามแนวโคจร) โดยมีรายละเอียดบางประการดังนี้

ทิศทางพิสัย

ทิศทางแอซิมัท

– ความละเอียดตามแนวพิสัยของเรดาร์ช่องเปิดสังเคราะห์ (Synthetic Aperture Radar : SAR) ถูกกำหนดโดยเครื่องเรดาร์ที่สร้างขึ้นและหน่วยประมวลผล- ความละเอียดขึ้นอยู่กับความยาวของพัลส์ ความยาวพัลส์ที่สั้นจะให้ความละเอียดดีขึ้น- ข้อมูลเรดาร์จะถูกสร้างขึ้นจากข้อมูลที่ได้รับในแนวของพิสัยเอียง (Slant range) แต่เมื่อทำภาพจะถูกฉายลงในแนวพิสัยราบ (Ground range) – ความละเอียดตามแอซิมัทถูกกำหนดโดยความกว้างของมุมลำแสงของแนวพื้นที่- วัตถุที่อยู่ใกล้กันสามารถแยกจากกันได้ จะต้องมีระยะทางในแนวแอซิมัทยาวกว่าความกว้างของลำแสงบนพื้นดิน- เรดาร์ช่องเปิดสังเคราะห์ได้ชื่อจากกระบวนการวิเคราะห์ทางตามแนวโคจร และต้องมีความละเอียดตามแนวโคจร น้อยกว่าความกว้างของลำแสง (Beam width) ที่ส่งออกจากสายอากาศส่งสัญญาณ

ความละเอียดของภาพเรดาร์กำหนดทั้งในทิศทางตามแนวโคจร และตามแนวความกว้างหรือขวางแนวโคจร

โดย    rR = ความละเอียดตามแนวพิสัย

rA = ความละเอียดตามแนวแอซิมัท

ภาพเซลล์ความละเอียด (Resolution cell)
ภาพเซลล์ความละเอียด (Resolution cell)

6. ความสัมพันธ์ระหว่างมุมตกกระทบ (Incident angle) มุมก้ม (Depression angle) และมุมมอง (Look angle)

มุมตกกระทบ (θ)       หมายถึง มุมระหว่างคลื่นเรดาร์ที่ตกกระทบกับแนวดิ่งของพื้นผิวโลก

มุมก้ม (β)               หมายถึง มุมระหว่างแนวนอนกับแนวคลื่นเรดาร์

มุมมอง (ø)                หมายถึง มุมระหว่างแนวดิ่งกับคลื่นเรดาร์

ภาพแสดงความสัมพันธ์ระหว่างมุมมอง (ø) มุมก้ม (β) และมุมตกกระทบ (θ) เมื่อพื้นโลกเรียบ
ภาพแสดงความสัมพันธ์ระหว่างมุมมอง (ø) มุมก้ม (β) และมุมตกกระทบ (θ) เมื่อพื้นโลกเรียบ

7. มุมตกกระทบเฉพาะที่ (Local incident angle : LIA)

มุมตกกระทบเฉพาะที่ หมายถึง มุมระหว่างคลื่นเรดาร์ ที่ตกกระทบกับแนวตั้งฉากกับความลาดชันของพื้นที่ในกรณีที่พื้นที่มีความลาดชัน

ภาพ (ก) แสดงแบบจำลองระบบ (ข) มุมตกกระทบเฉพาะที่
ภาพ (ก) แสดงแบบจำลองระบบ (ข) มุมตกกระทบเฉพาะที่

8. พิสัยตามแนวเอียงและตามแนวราบ (Slant range and Ground range)

ตรงกันข้ามกับเครื่องวัดเชิงแสง (Optical sensor) เรดาร์จะถ่ายภาพในแนวเอียง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นทิวทัศน์แนวเฉียง (Oblique perspective) การถ่ายภาพในลักษณะเช่นนี้เพื่อที่จะส่งพัลส์ให้มีปฏิสัมพันธ์กับพื้นผิวโลกในระยะที่เพิ่มขึ้นจากสายอากาศเรดาร์ และได้พิสัยหรือระยะทางของภาพ พิสัยตามแนวเอียงเป็นระยะทางระหว่างเรดาร์กับหน่วยการสะท้อนบนพื้นผิว ซึ่งเป็นการวัดเวลาจากการส่งสัญญาณแรกจนกระทั่งรับสัญญาณกลับสู่เครื่องรับรู้ ข้อมูลดิบของเรดาร์ที่ทำการเก็บข้อมูลตามพิสัยแนวเอียง ซึ่งสามารถคำนวณได้จากความสัมพันธ์

007_SR

SR     = พิสัยตามแนวเอียง

c      = ความเร็วของแสง

t         = เวลาระหว่างการส่งพัลส์ และรับสัญญาณกลับ

ผู้ใช้ต้องการข้อมูลที่แสดงข้อมูลตามแนวราบมากกว่าแนวเอียง ระยะทางตามแนวราบเรียกว่าพิสัยตามแนวราบ ซึ่งสามารถคำนวณเมื่อทราบมุมตกกระทบ (θ) ดังนี้

008_SR2

การประมวลผลภาพเรดาร์จึงจะต้องปรับแก้ข้อมูลในพิสัยตามแนวเอียง มาเป็นพิสัยตามแนวราบ

9. เรดาร์ช่องเปิดจริง และเรดาร์ช่องเปิดสังเคราะห์ (Real and Synthetic Aperture Radars: RAR and SAR)

ในช่วงเริ่มต้นการถ่ายภาพเรดาร์ ระบบเรดาร์เป็นการถ่ายภาพในแนวเฉียงจะเป็นเรดาร์ช่องเปิดจริงซึ่งมีสายอากาศ หรือจานรับส่งสัญญาณแบบติดแน่นบนเครื่องบิน การพัฒนาให้ได้ความความละเอียดดีขึ้นต้องมีสายอากาศขนาดใหญ่ และความยาวคลื่นลดลง ดังนั้นจึงเป็นปัญหาและอุปสรรคในการถ่ายภาพเรดาร์เป็นอย่างมากต่อมาได้มีการพัฒนาเรดาร์ช่องเปิดสังเคราะห์ขึ้นทำให้ลดปัญหาได้มาก ความแตกต่างของระบบเรดาร์ทั้งสองประเภทคือ วิธีการได้มาซึ่งความละเอียดด้านแอซิมัท (Azimuth resolution) ในการถ่ายภาพเรดาร์ไม่ว่าแบบใดความละเอียดในแนวพิสัยเอียงจะเหมือนกัน ส่วนความละเอียดในแนวแอซิมัทหรือแนวการบินจะแตกต่างกันระหว่างเรดาร์ช่องเปิดจริงกับเรดาร์ช่องเปิดสังเคราะห์ เรดาร์ช่องเปิดจริงรับสัญญาณในแนวแอซิมัทขึ้นอยู่กับขนาดของสายอากาศ หากต้องการความแยกชัดที่ละเอียดต้องใช้สายอากาศความมีขนาดใหญ่ขึ้น ส่วนระบบ SAR อาศัยการเคลื่อนที่ต่อเนื่องของสายอากาศและเก็บข้อมูลเป้าหมายหนึ่งๆ สะสมต่อเนื่องตามเวลาที่กำหนด แล้วจึงประมวลผลเพื่อกำหนดความละเอียดและใน SAR จะสังเคราะห์ความกว้างของลำแสงที่แคบ ดังนั้นระบบ SAR จะใช้สายอากาศสั้น และสามารถใช้ช่วงคลื่นที่ยาวขึ้นได้ ทำให้มีความละเอียดดีขึ้น

ภาพเรดาร์ช่องเปิดจริงและเรดาร์ช่องเปิดสังเคราะห์ ที่มา : Henderson, F.M. and Lewis, A.J. (1998)
ภาพเรดาร์ช่องเปิดจริงและเรดาร์ช่องเปิดสังเคราะห์
ที่มา : Henderson, F.M. and Lewis, A.J. (1998)

10. การย่นระยะของภาพเรดาร์ (Foreshortening)

ลักษณะการย่นระยะในภาพเรดาร์คือ ปรากฏการถ่ายภาพที่เกิดขึ้นเมื่อวัตถุบนพื้นที่ในทิวทัศน์ที่มีความลาดเอียงหันหน้าเผชิญหน้าเรดาร์ได้ภาพหดสั้นกว่าความเป็นจริง ในลักษณะของการย่นระยะนี้คลื่นเรดาร์จะชนฐานของพื้นที่ก่อนส่วนยอด ลักษณะการย่นระยะจะได้ภาพสว่างกว่า การย่นระยะสูงสุดเมื่อความลาดชันของพื้นที่ตั้งฉากกับลำแสงของเรดาร์ในกรณีนี้มุมตกกระทบเฉพาะที่จะมีค่าเป็น 0 ผลก็คือทั้งส่วนยอดและส่วนล่างของพื้นที่จะถูกบันทึกภาพพร้อมกัน ดังนั้นจะมีตำแหน่งที่เดียวกัน สำหรับความลาดชันหนึ่งๆ ที่กำหนดให้ผลของการย่นระยะจะลดลงเมื่อเพิ่มมุมตกกระทบ ซึ่งมุมตกกระทบเฉลี่ยเข้าใกล้ 90 ํ ผลการย่นระยะจะถูกลบไปแต่จะปรากฏเงาแทนที่ ในการเลือกมุมตกกระทบมักจะมีการแลกเปลี่ยนหรือแทนที่กัน ระหว่างการปรากฏเงาและการย่นระยะ

ภาพการย่นระยะ
ภาพการย่นระยะ

11. การวางทับ (Layover)

การวางทับ เกิดขึ้นเมื่อเครื่องรับรู้เรดาร์ได้รับพลังงานการสะท้อนกลับของวัตถุส่วนยอดก่อนการกลับของพลังงานสะท้อนของวัตถุส่วนฐาน ดังนั้นตำแหน่งของวัตถุส่วนยอดจะคลาดเคลื่อนจากตำแหน่งจริง โดยแสดงให้เห็นส่วนล่างของวัตถุก่อน ในทางพิสัยใกล้ของภาพถ่ายเรดาร์ การวางทับจะมากขึ้นเมื่อเรขาคณิตการมองภาพที่มีมุมตกกระทบต่ำ เช่น ภาพเรดาร์จากดาวเทียม

ภาพการวางทับ
ภาพการวางทับ

12. เงา (Shadow)

เงาของเรดาร์ แสดงถึง พื้นที่ที่ไม่ถูกกระทบโดยคลื่นเรดาร์ ดังนั้นพื้นที่ส่วนนี้เครื่องรับสัญญาณเรดาร์จะไม่ได้รับสัญญาณสะท้อนกลับเงาจะปรากฏเป็นสีดำในภาพเรดาร์ในภาพถ่ายเรดาร์ เงาจะเกิดขึ้นในทิศทางพิสัยด้านล่างด้านหลังของวัตถุที่สูง เงาเป็นตัวช่วยแสดงทิศทางการถ่ายภาพของเรดาร์ถ้าการพิมพ์คำอธิบายไม่สมบูรณ์หรือหายไป เงาในภาพเรดาร์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรดาร์ได้หลายประการ เช่น การรบกวนของระบบ และสามารถใช้ประโยชน์ในภาพที่ละเอียดและวิเคราะห์ระบบ ข้อมูลเกี่ยวกับความสูงของวัตถุ และการตีความความสูงต่ำของพื้นที่ สามารถวิเคราะห์จากเงาภาพ

ภาพเงา
ภาพเงา

13. พาราแลกซ์ (Parallax) และ Radar Interferometry

ความแตกต่างของระยะทางของตำแหน่งเดียวกันของวัตถุที่ปรากฏในภาพเมื่อถ่ายซ้อนทับกันจากมุมถ่ายภาพที่ต่างกันเรียกว่า พาราแลกซ์ หากมีความแตกต่างกันมากภาพสามารถที่จะแสดงสามมิติได้เด่นชัดขึ้นพาราแลกซ์ของระบบ SAR มีด้วยกัน 3 ประเภท

– ถ่ายภาพที่ความสูงเท่ากันที่ตำแหน่งตรงกันข้าม มีพาราแลกซ์ = DP1 + DP2

– ถ่ายภาพในแนวดิ่งเดียวกัน แตกต่างความสูง มีพาราแลกซ์ = DP1 – DP2

– ถ่ายภาพทิศทางเดียวกันในแนวราบ แต่ระยะทางถึงวัตถุต่างกัน มีพาราแลกซ์ = DP1 – DP2

ภาพแสดงพาราแลกซ์ของภาพเรดาร์ทั้งสามประเภทดังกล่าว ที่มา : Henderson, F.M. and Lewis, A.J. (1998)
ภาพแสดงพาราแลกซ์ของภาพเรดาร์ทั้งสามประเภทดังกล่าว
ที่มา : Henderson, F.M. and Lewis, A.J. (1998)

จากพื้นฐานของระบบเรดาร์ เมื่อส่งสัญญาณจากสายอากาศไปสู่เป้าหมายและรับสัญญาณกลับใน SAR จะบันทึกข้อมูลในแต่ละครั้งที่รับสัญญาณกลับ คือ เวลา ความเข้ม และตำแหน่งของเครื่องรับ ซึ่งเรียกว่าเฟส (Phase) เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของเฟสที่บันทึกสัญญาณกลับจากตำแหน่งเดียวกันในขณะที่มีการเคลื่อนที่สามารถที่คำนวณระยะทางที่แตกต่างได้ ในการได้มาซึ่งโมเดลความสูงเชิงพื้นที่นั้น จะเป็นการถ่ายภาพในพื้นที่เดียวแต่มีตำแหน่งที่ถ่ายภาพแตกต่างกัน ในการถ่ายภาพของเรดาร์อาจจะมีแนวการบินข้างเดียวกันหรือตรงกันข้าม 2 แนว ที่ความสูงเท่ากัน หรือมีตำแหน่งในแนวตั้งเดียวกัน แต่ความสูงของเครื่องบินต่างกัน โดยอาศัยความแตกต่างของเฟสเราสามารถคำนวณหาความแตกต่างของระดับพื้นที่ได้ ซึ่งเรียกว่า Differential Interferometry

14. Speckle

สัญญาณที่ถ่ายภาพเรดาร์เมื่อกระทบกับสภาพพื้นที่ที่หลากหลายมุมซึ่งขึ้นอยู่กับมุมตกกระทบมุมตกกระทบเฉพาะที่ และอื่นๆ เมื่อรับสัญญาณกลับสู่เครื่องรับจะเกิดความแปรปรวนแบบสุ่มและมักจะมีลักษณะเป็นเม็ดหรือจุดในภาพเรดาร์ เรียกว่า Speckle

Speckle ในบางครั้งก็เป็นประโยชน์ที่ใช้ในการแปลตีความ ในกระบวนการกรองภาพมีวิธีการที่จะลบSpeckle ออกจากภาพซึ่งมีหลากหลายวิธี

ที่มา : ตำราเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศศาสตร์

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN